กรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายหลัก เพื่อให้เป็นโครงข่ายทางหลวงระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เป็นเส้นทางรองรับการเดินทางขนส่งของคนและสินค้าตามแนวเส้นทางโลจิสติกส์ของประเทศ โดยแนวเส้นทางดังกล่าวประกอบด้วย เส้นทางที่เชื่อมโยงจากจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคเข้าสู่จังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค และเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ตลอดจนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด่านการค้าชายแดนและโครงข่ายทางหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญ ด้านการเดินทางและขนส่งรูปแบบอื่น ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เช่น สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และศูนย์กลางการกระจายและขนส่งสินค้า เป็นต้น ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนา โครงข่ายทางหลวงสายหลักของกรมทางหลวง จึงมุ่งเน้นที่การเดินทางและขนส่งที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ลดต้นทุน ด้านโลจิสติกส์ของภาคการคมนาคมขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการบรรลุเป้าหมายสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการจําแนกลำดับชั้นถนนของกรมทางหลวงตามหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล โครงข่ายทางหลวงสายหลักเป็นเส้นทางที่มีลำดับชั้นความสำคัญสูง โดยเป็นลำดับสองรองจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถนนได้เปิดบริการไปช่วงเวลาหนึ่ง จะเกิดการพัฒนาของสภาพแวดล้อมสองข้างทางหลวง เกิดการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เป็นปัจจัยให้ถนนมีปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและการใช้ประโยชน์ของที่ดินบริเวณ สองข้างทาง มีความต้องการทางเชื่อมเข้า-ออก จุดเปิดเกาะกลาง เกิดทางร่วม ทางแยก เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดและปัญหาอุบัติเหตุรุนแรงบนทางหลวงสายหลัก จากปัจจัยเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงต้องดำเนินการสำรวจประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโครงข่ายทางหลวงสายหลัก เพื่อศึกษาวิเคราะห์กายภาพถนนและองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรและความปลอดภัย สำหรับกำหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ และความปลอดภัยของโครงข่าย เพื่อให้ทางหลวงสายหลักสามารถรองรับการเดินทางสัญจรของประชาชน ได้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ในการเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและภูมิภาคต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
การจัดทำแผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและยกระดับความปลอดภัย โครงข่ายทางหลวงสายหลัก จำเป็นต้องสำรวจตรวจสอบวิเคราะห์แนวโครงข่ายและเส้นทางเชื่อมต่อ รวมทั้งลักษณะกายภาพถนนและการใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทางหลวง ที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรและ ความปลอดภัย นำไปสู่การพิจารณารูปแบบการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมพร้อมจัดทำการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้รูปแบบการปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทางหลวงสายหลักได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนประเมินความพร้อมของโครงการและจัดลำดับความสำคัญเพื่อวางแผนโครงการระยะต่าง ๆ ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการมีมิติที่หลากหลายและมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่ซับซ้อน ประกอบกับปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรูปแบบต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก จึงจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงสายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและยกระดับความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป